บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเขตวัดพระธาตุก่องข้าวน้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นเพียงทุ่งนาในเขตตำบลตาดทอง พระธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สาม ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้ง


สี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้ไปเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อยๆ สอบเข้าหากัน ส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อยมีกำแพงอิฐล้อมรอบขนาด 5x5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังพระธาตุมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
พระธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนา


ดังมีประวัติตามนี้

ครั้งหนึ่ง เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว ที่บ้านตาดทอง ในฤดูฝนมีการเตรียมปักดำกล้าข้าว ทุกครอบครัวจะออกไปไถนาเตรียมการเพาะปลูก ครอบครัวของชายหนุ่มคนหนึ่งกำพร้าพ่อ ไม่ปรากฏชื่อหลักฐาน ก็ออกไปปฏิบัติภารกิจเช่นเดียวกัน
วันหนึ่งเขาไถนาอยู่นานจนสาย ตะวันขึ้นสูงแล้ว รู้สึกเหน็ดเหนื่อย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ และหิวข้าวมากกว่าทุกวัน ปกติแล้วแม่ผู้ชราจะมาส่งก่องข้าวให้ทุกเช้า แต่เช้านี้กลับมาช้าผิดปกติ เขาจึงหยุดไถนาเข้าพักผ่อนอยู่ใต้ต้นไม้ ปล่อยเจ้าทุยไปกินหญ้า สายตาเหม่อมองไปทางบ้าน รอคอยแม่ที่จะมาส่งข้าวตามเวลาที่ควรจะมา ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจ ยิ่งสายตะวันขึ้นสูง แดดยิ่งร้อน ความหิวกระหายก็เร่งทวีคูณขึ้น
ทันใดนั้น เขามองเห็นแม่เดินเลียบมาตามคันนา พร้อมก่องข้าวน้อยๆ ห้อยต่องแต่งอยู่บนสาแหรกคาน เขารู้สึกไม่พอใจที่แม่เอาก่องข้าวน้อยนั้นมาช้ามาก ด้วยความหิวกระหายจนตาลาย อารมณ์พลุ่งพล่าน เขาคิดว่าข้าวในก่องข้าวน้อยนั้นคงกินไม่อิ่มเป็นแน่
จึงเอ่ยปากต่อว่าแม่ของตนว่า “อีแก่ มึงไปทำอะไรอยู่ จึงมาส่งข้าวให้กูกินช้านัก ก่องข้าวก็เอาก่องข้าวน้อยๆ มาให้กิน กูจะกินอิ่มหรือ ?”
ผู้เป็นแม่เอ่ยปากตอบลูกว่า
“ถึงก่องข้าวจะน้อย ก็น้อยต้อนแต้นแน่นในดอกลูกเอ๋ย ลองกินเบิ่งก่อน”
ด้วยความหิว ความเหน็ดเหนื่อย ความโมโห หูอื้อตาลาย ไม่ยอมฟังเสียงใดๆ เกิดบันดาลโทสะอย่างแรงกล้า คว้าได้ไม้แอกน้อยเข้าตีแม่ที่แก่ชราจนล้มลง แล้วก็เดินไปกินข้าว กินข้าวจนอิ่มแล้ว แต่ข้าวยังไม่หมดกล่อง จึงรู้สึกว่าตนเองตีแม่ด้วยความหิว เกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รีบวิ่งไปดูอาการของแม่ เข้าสวมกอดแม่
อนิจจา…แม่สิ้นใจไปเสียแล้ว
ชายหนุ่มร้องไห้โฮ สำนึกผิดที่ตนฆ่าแม่ของตนเองด้วยอารมณ์เพียงชั่ววูบ ไม่รู้จะทำประการใดดี จึงเข้าไปกราบนมัสการสมภารวัดเล่าเรื่องให้ท่านฟังโดยละเอียด สมภารสอนว่า
“การฆ่าบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าของตนเองนั้น เป็นบาปหนัก เป็นมาตุฆาต ต้องตกนรกอเวจี ตายแล้วไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดเป็นคนอีก มีทางเดียวจะให้บาปเบาลงได้ก็ด้วยการสร้างธาตุก่อกวมกระดูกแม่ไว้ ให้สูงเท่านกเขาเหิน จะได้เป็นการไถ่บาปหนักให้เบาบางลงได้บ้าง”
เมื่อชายหนุ่มปลงศพแม่แล้ว ขอร้องชักชวนญาติมิตรชาวบ้านช่วยกันปั้นอิฐก่อเป็นธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิแม่ ไว้ จึงให้ชื่อว่า “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่“ จนตราบทุกวันนี้
นอกจากธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว ที่วัดทุ่งสะเดา ซึ่งอยู่ห่างกันไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ก็มี ธาตุก่องข้าวน้อย ตั้งอยู่เช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก
พระครูวิมลสุวรรณคุณ เจ้าอาวาสวัดทุ่งสะเดา และเจ้าคณะตำบลตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร เล่าว่า ธาตุก่องข้าวน้อยที่วัดทุ่งสะเดานั้น มีตำนานคล้ายธาตุก่องข้าวน้อยที่บ้านตาดทองเช่นกัน แต่จะเป็นธาตุแม่หรือธาตุลูกไม่มีหลักฐาน จากอดีตที่ยาวนาน ชาวบ้านตาดทองและบ้านสะเดาต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดตลอดมา เพราะเป็นเครือญาติมาชั่วหลายอายุคน จากประวัติที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานจากผู้สูงอายุ ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่เสียชีวิตไปแล้ว ทุกคนบอกว่าเจดีย์ที่บริเวณวัดทุ่งสะเดา คือ ธาตุก่องข้าวน้อย แต่จะเป็นธาตุลูก หรือธาตุแม่นั้น ไม่มีหลักฐาน หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ไม่มี เนื่องจากหอไตรที่เก็บประวัติและใบลานของวัดถูกไฟไหม้เสียหายไปหมดสิ้น เจ้าอาวาสที่อยู่ประจำทุกวันนี้ก็ได้ยินเพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมา
สำหรับเหตุผลที่คนนิยมมาไหว้ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ นายสุวรรณ ขลุ่ยเงิน อายุ ๗๙ ปี ผู้ดูแลธาตุก่องข้าวน้อย บอกว่า ในแต่ละวันมีผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาสักการบูชาไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ถ้าเป็นหน้าเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ จะมีไม่น้อยกว่า ๕๐๐ คน เพื่อขอโชคลาภ บางคนมากราบไหว้เพื่อขอขมาลาโทษ เหมือนเป็นการไถ่บาปที่ทำให้พ่อแม่เสียใจ
นางบังอร เกสรศาสตร์ อายุ ๓๘ ปี ชาว จ.อุบลราชธานี เหมารถมากับญาติ ๑๐ คน ให้เหตุผลการมาไหว้ธาตุก่องข้าวน้อยว่า “เหตุที่ตั้งใจมากราบไหว้เพราะทำสิ่งที่ไม่ดีกับแม่ตั้งแต่ยังเป็นสาว โดยทำให้แม่เสียใจจนแม่ตรอมใจตาย ด้วยความสำนึกผิด และภาพที่ทำไม่ดีกับแม่ตามหลอกหลอนอยู่ตลอด เมื่อมีลูกถึงรู้ว่าบุญคุณแม่สุดเหลือคณานับ ไม่สามารถจะบรรยายได้ เพิ่งรู้ว่า เลี้ยงดูลูกนั้นยากหนักหนาขนาดไหน จึงมาสำนึกที่ทำให้แม่ต้องเสียใจด้วยการกราบไหว้ธาตุก่องข้าวน้อยทุกปี เพื่อรำลึกถึงบุญคุณแม่”
มาตุฆาต-ครุกรรม
พระอาจารย์สุขเกษม เขมสุโข พระวัดประดู่ธรรมาธิปัตย์ กรุงเทพฯ อธิบายว่า กรรมหนัก มีคำที่มีความหมายเหมือนกันอยู่ ๒ คำ คือ อนันตริยกรรม (อะ-นัน-ตะ-ริ-ยะ-กำ) และ ครุกรรม (คะ-รุ-กำ) แต่คำว่า ครุกรรม มีความหมายทั้งกรรมฝ่ายที่เป็นกุศล คือ ฝ่ายดี และฝ่ายที่เป็นอกุศล คือ ฝ่ายไม่ดี
ครุกรรมที่เป็นกุศลได้แก่ฌานสมาบัติ ๘ ผู้ได้ฌานสมาบัติชื่อว่าได้ทำกรรมฝ่ายกุศลที่ดีที่สุด เมื่อสิ้นชีวิตแล้วย่อมได้เกิดในพรหมโลกทันที ส่วนครุกรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งมีผลมาก มีโทษรุนแรงที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน มีการกระทำอยู่ ๕ ประการที่ถือว่าเป็นกรรมหนัก คือ ๑. มาตุฆาต หมายถึง ฆ่ามารดา ๒. ปิตุฆาต หมายถึง ฆ่าบิดา ๓. อรหันตฆาต หมายถึง ฆ่าพระอรหันต์ ๔. โลหิตุปบาท หมายถึง ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป และ ๕.สังฆเภท หมายถึง ทำสงฆ์ให้แตกกัน
มาตุฆาต แปลว่า ฆ่ามารดา หมายถึง การทำให้มารดาผู้บังเกิดเกล้าเสียชีวิต เป็นกรรมที่ให้ผลไม่มีระหว่างกรรมที่ให้ผลทันทีหลังจากตายไป ไม่มีกรรมอื่นมาให้ผลคั่นกลาง เป็นบาปที่สุดยิ่งกว่ากรรมใดๆ เมื่อผู้ทำตายไปย่อมตกนรกทันที แม้จะทำบุญอื่นไว้มาก ก็ต้องไปรับผลกรรมนั้นก่อน และจัดเป็นกรรมที่หนักที่สุด ไม่มีกรรมอื่นที่จะหนักเท่า ผู้ทำกรรมนี้แล้วย่อมถูกลงโทษในนรกให้ได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
นอกจากนี้แล้วในพระวินัยท่านกำหนดไว้ว่า “เมื่อผู้ใดทำมาตุฆาต ผู้นั้นเป็นผู้ต้องห้ามมิให้บรรพชาอุปสมบทเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ทำอนันตริยกรรมข้ออื่นๆ”
พระอาจารย์สุขเกษม ให้คติธรรมด้วยว่า การสำนึกถึงบุญคุณพ่อแม่เป็นเรื่องดี แต่จะมีประโยชน์อะไรสำหรับผู้ที่สำนึกบุญคุณของท่านเมื่อท่านจากโลกนี้ไป แล้ว การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านไม่เท่ากับทำความดีต่อท่าน
การเลี้ยงดูท่าน เชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน เท่ากับได้ทำบุญกับพระอรหันต์เลยทีเดียว เพราะพ่อแม่ถือว่าเป็นพระอรหันต์ของลูกทุกๆ คน



นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทอง กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียงซึ่งกรมศิลปากรกำลังดำเนินการจัดตั้งอุทยานก่อนประวัติศาสตร์ขึ้น 

ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร-กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก 
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนแจ้งสนิท (ทางหลวงหมายเลข 23) ติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน ภายในสวนพญาแถนมีลำน้ำเล็กๆ คดเคี้ยวล้อมรอบบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสวนไม้ดอก ไม้ประดับ สังคีตศาลา (เวทีการแสดงกลางแจ้ง) สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ เทศบาลกำหนดให้สวนพญาแถนเป็นสถานที่จัดงานบั้งไฟประจำปี (พญาแถนเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อของชาวอีสานว่าเมื่อถึงเดือนหกจะต้องทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าถวายพญาแถน ฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาล) นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือสั้น(เรือหาปลา)ประจำปี และงานสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 สวนแห่งนี้ยังได้รับรางวัลสวนสาธารณะดีเด่น ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย