บริการสืบค้น

Custom Search
ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก
พระธาตุยโสธร หรือพระธาตุอานนท์ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสาน เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติการตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่า สร้างราว พ.ศ. 2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ. 2313-2319 มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้

ลักษณะพระธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนยอดธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบ มี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยและทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชพระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม
หอไตร เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัด ตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคา บริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรม หีบพระธรรม เสลี่ยงชั้นวางคัมภีร์ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม การตกแต่งฝาผนังมีลวดลาย ซึ่งเป็นลักษณะผสมแบบภาคกลางสันนิษฐานว่า หอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่า ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองเป็นย่านเมืองเก่าที่ปรากฏนามอยู่ในประวัติศาสตร์การก่อตั้งเมืองปัจจุบันในบริเวณดังกล่าวยังคงมีตึกแถวโบราณที่มีรูปทรงและลวดลายงดงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง 

จังหวัดยโสธรจากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า” หรือ “เมืองสิงห์ท่า” ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น “เมืองยโสธร” ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา


ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515

จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองยโสธร คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย ป่าติ้ว เลิงนกทา กุดชุม ค้อวัง ทรายมูล และไทยเจริญ